ค่ำคืนดู ‘ค้างคาว’ / International Bat Walk 2022

สวัสดีทุกคน วันนี้เราพามาชมบรรยากาศคืนดูค้างคาว / International Bat Night และยังเป็นการออกเดินส่องสัตว์กลางคืนไปพลาง ๆ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ได้เล่นสนุกกันด้วย

กิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นโดย กลุ่มเนเจอร์ เพลิน Nature Plearn Club และ เครือข่ายเยาวชนระดับโลกด้านความหลากหลายทางชีวภาพ GYBN Thailand ร่วมกับทีม กทม. กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ และทีมงานผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จัดกิจกรรมภายใต้งาน “บางกอกวิทยา”

เชิญชวนผู้คนทั่วโลกมาสำรวจค้างคาวในยามค่ำคืนด้วยกันเถอะ ยังมีไลฟ์ยาวเหยียดจากทาง International Bat Night ติดต่อกันถึง 12 ชั่วโมงอีกนะ

นกมีหู หนูมีปีก ตัวอะไรนั่น ?

ค้างคาว หรือ Bat เป็นสิ่งมีชีวิตลึกลับที่เราคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี แต่น้อยครั้งที่จะได้เห็นตัวชัด ๆ สักครั้ง เนื่องจากพฤติกรรมเที่ยวเล่นยามค่ำคืนของพวกมัน อย่างไรก็ตาม ถึงปรากฏตัวไม่บ่อยนัก แต่ค้างคาวเป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างประโยชน์อย่างมากมายทั้งทางสิ่งแวดล้อมจนไปถึงเศรษฐกิจเลยนะ 

ค้างคาว เป็นผู้ควบคุมประชากรของศัตรูพืชและแมลงขนาดเล็กเป็นอย่างดี เป็นผู้ผสมเกสรและยังขยายเมล็ดพันธุ์ให้พืชอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่ใกล้ชิดกับมนุษย์เราและสร้างผลประโยชน์มหาศาลเลยล่ะ แถมยิ่งพูดก็ยิ่งทำให้นึกถึงนกเลยเนอะ 

ค้างคาวกินอะไร ? อาหารที่กินได้มีหลากหลาย ผลไม้ เกสรดอกไม้ น้ำหวาน ปลา บางชนิดล่าแมลงโดยเฉพาะ แถมทางประเทศตะวันตกมีค้างคาวแวมไพร์ที่กินเลือดถึงสามชนิดด้วยกันเลยล่ะ

ค้าวคาว เอ้ย ค้างคาว
ค้าวคาว เอ้ย ค้างคาว

เข้าเรื่อง !

เริ่มจากการพบกันที่จุดนับพบตั้งแต่เวลาหกโมงเย็น และเริ่มเปิดกิจกรรมตอนช่วงหนึ่งทุ่มตรง

กิจกรรมเรียนรู้ การหาเหยื่อของค้างคาว

พี่ไม้เอกสาธิตวิธีการเล่นให้เด็ก ๆ ดู จากการที่ค้างคาวกินแมลงหาเหยื่อด้วยการเสียงอัลตร้าโซนิคนั่นเอง โดยเด็ก ๆ ปิดตาและตะโกนโต้ตอบกับผู้ปกครองเป็นช่วง ๆ เสมือนการระบุบตัวเหยื่อด้วยเสียงนั่นเอง

หลังจากเจิมกันด้วยกิจกรรมไป ก็ได้เวลาออกเดินทางไปหาเจ้าตัวแล้ว

แขกท่านแรกไม่ใช่ค้างคาว แต่เป็น(นก)ชัชชาตินั่นเอง หรือ นกเค้าจุด / Spotted Owlet (Athene brama) บินมาต้อนรับ เกาะขอนไม้ตาแป๋วเลย

และ เจ้าของประเด็นก็ได้ปรากฎตัวเหนือน้ำในที่สุด

Myotis hasseltii
ภาพโดย Kawin Sirichantakul

ด้วยวิทยาการและฝีมือของคุณกวิน ที่ล้ำหน้าเกินความไวของค้างคาว ทำให้สามารถจับภาพเจ้า ค้างคาวหูหนูตีนโตใหญ่ (Myotis hasseltii) ได้อย่างสวยงาม นอกจากภาพแล้ว ระหว่างเดินส่องสัตว์ก็มักได้ยินเสียงจ๋อมอยู่พลาง ๆ คาดว่าเป็นเสียงของขาค้างคาวกระทบกับพื้นน้ำ

ค้างคาวไปแล้ว เพื่อน ๆ ตัวอื่นก็ตามมา

เปิดที่จิ้งเหลนเบาว์ริง* (*ชื่อแปล) (Subdoluseps bowringii) ตัวเล็กปราดเปรียว มีเกล็ดสีเลื่อมสวยงามยามกระทบแสง

แมงป่องแส้
แมงป่องแส้ จาก https://www.inaturalist.org/observations/132590469

ตัวที่สองไม่รองใคร แมงป่องแส้ในวงศ์ย่อย Thelyphonidae / Vinegaroon ตัวนี้หางขาด แต่ยังสามารถปล่อยกรดน้ำส้มสายชูที่มีกลิ่นฉุนมาก จากตำแหน่งโคนหางได้ตามปกติ ขอแนะนำว่าไม่ควรจับเล่น เพราะอาจโดนพ่นกรดใส่ได้และยังมีแรงกัดที่ค่อนข้างรุนแรง

Vinegaroon
แมงป่องแส้ จาก https://www.inaturalist.org/observations/132597753

อีกตัว ตัวนี้มีหาง

ไข่ตุ๊กแก ในโพรงไม้
ไข่ตุ๊กแก ในโพรงไม้

ไข่ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) ในโพรงต้นไม้ วางเรียงกันซะน่ารักเลย

ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) จาก https://www.inaturalist.org/observations/132598590

มีไข่ก็ต้องมีตัวแม่ พี่อาร์มพาตุ๊กแกบ้านตัวเบิ้มลงมาให้ดูกัน พังพืดใต้ตีนตุ๊กแกมีความเหนียวมาก แถมมีกรงเล็บที่ค่อนข้างคม อ้าปากโชว์ฟันซี่คมพร้อมงับนิ้วรอเลย (การจับครั้งนี้อยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรไปทำตามนะ)

ปลิงควาย (Hirudinaria sp.)

ปิดท้ายด้วยความหยึยสุดยอด กับปลิงควาย (Hirudinaria sp.) ที่พบว่ายน้ำอยู่ข้างทาง ปลิงตัวนี้มีขนาดใหญ่คับมือ แต่ดูเหมือนจะยิ่งถูกใจน้อง ๆ เพราะขอไปเลี้ยงกันก็ยังมี

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พบเท่านั้น จริง ๆ ได้พบสิ่งมีชีวิตยามค่ำคืนเยอะมาก เป็นเวลาที่ครอบครัวได้มาสนุกสนานและหาอะไรทำร่วมกันกับพี่ ๆ วิทยากรที่น่ารักทุกท่าน ทั้งนี้ขอขอบคุณทาง Nature Plearn Club และทุกท่านที่มาพบกันครับ ไว้ปีหน้ามาพบกันใหม่

References

Bats are one of the most important misunderstood animals | U.S. Fish & Wildlife Service (fws.gov)

International Bat Night/ BatFest – Support Bats – Bat Conservation Trust

Kavee Sirichantakul

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to top